ตาไก่ ๓

Microtropis crassifolia Craib

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก หรือเกือบเป็นรูปไข่ หูใบมีขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว สีขาว ออกตามซอกใบหรือนอกซอกใบ เป็นกระจุก ๑-๓ ดอก ก้านสั้นหรือไร้ก้าน ตามข้อที่ยอดมีใบประดับคล้ายหูใบ ๑ คู่ ค่อนข้างติดทน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี มีแนวตามยาว ๑ แนว เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตาไก่ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๑๐ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก หรือเกือบเป็นรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๔.๕ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง มีตุ่มเล็กทั้ง ๒ ด้าน ไร้ขน มีเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เห็นไม่ชัดทางด้านบน เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. หูใบมีขนาดเล็ก ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือนอกซอกใบ เป็นกระจุก ๑-๓ ดอก ตามข้อที่ยอดมีใบประดับคล้ายหูใบ ๑ คู่ ยาว ๒.๕-๗ มม. ค่อนข้างติดทน ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. หรือไร้ก้าน ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกคล้ายรูปไต กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ขอบเป็นชายครุยสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เมื่อบานตั้งตรง รูปรีกว้าง กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ไม่มีจานฐานดอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นวงแหวน อับเรณูหันเข้าด้านใน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงเกือบกลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ยอด แต่ละยอดมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้าง ๗-๘.๕ มม. ยาว ๑.๖-๑.๘ ซม. มีแนวตามยาว ๑ แนว


เมื่อผลแก่จะแตกตามแนวนี้ เมล็ดรูปคล้ายผล กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๑ เมล็ด มีแนวตามยาว ๑ แนว

 ตาไก่ชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาไก่ ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Microtropis crassifolia Craib
ชื่อสกุล
Microtropis
คำระบุชนิด
crassifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์